Monovision LASIK สำหรับกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป อ่าน 27,600
Monovision LASIK คือ เทคนิคเฉพาะในการทำเลสิค โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อให้ไม่ต้องใส่แว่นตาสำหรับการมองใกล้ การทำ Monovision LASIK จึงเป็นการแก้ไขค่าสายตาให้มองเห็นใกล้และไกลชัด ในตาคนละข้าง กล่าวคือ ตาข้างนึงจะถูกแก้ไขให้มองเห็นไกลชัดเจน ในขณะที่ตาอีกข้างนึงจะถูกแก้ไขให้มองเห็นใกล้ชัดเจน
ภาวะสายตายาวตามอายุ กับความสามารถในการเพ่งที่ลดลง
สำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปที่ต้องการทำผ่าตัดแก้ไขค่าสายตา มักจะพบกับภาวะสายตายาวตามอายุ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการเพ่งลดลง การสูญเสียความสามารถในการเพ่งนี้ เกิดจากการที่เลนส์แก้วตาเริ่มมีลักษณะที่แข็งตัวขึ้น ยืดหยุ่นได้น้อยลง จนทำให้เราปรับโฟกัสเพื่อให้มองเห็นภาพชัดในระยะใกล้ได้ยากขึ้น เราจึงต้องพึ่งพาแว่นตาสำหรับมองใกล้ (reading glasses) เพื่อช่วยให้มองใกล้ได้ดีขึ้น ภาวะสายตายาวตามอายุจะเกิดในช่วงอายุ 40-50 ปี ขึ้นกับค่าสายตาของแต่ละคนที่มีอยู่เดิม
การให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่มีภาวะสายตายาวที่ต้องการทำเลสิคจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จักษุแพทย์และผู้ป่วยเองต้องได้พูดคุย และตัดสินใจร่วมกัน บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยต้องการทำเลสิค ไม่เคยทราบว่า หลังจากทำเลสิคแล้วยังคงต้องใส่แว่นตาสำหรับมองใกล้อยู่ การให้การรักษากับผู้ป่วยที่มีภาวะสายตายาวตามอายุร่วมด้วย จึงต้องพิจารณาควบคู่กับค่าสายตาที่มีอยู่เดิม
1. ผู้ป่วยที่มีภาวะสายตายาว (hyperopia) และผู้ป่วยที่มีภาวะสายตาเอียงมาก (astigmatism) ที่แต่เดิมอาจต้องใส่แว่นที่เป็นเลนส์ชนิด bifocal เพื่อให้มองเห็นได้ชัดทั้งไกลและใกล้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะค่อนข้างเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการมองเห็นระยะใกล้ จำเป็นต้องใส่แว่นตามองใกล้ตลอดเวลา แนวทางในการรักษาจึงมี 2 ทางเลือก คือ แก้ไขค่าสายตาเพื่อให้มองเห็นไกลชัดทั้ง 2 ข้าง แต่ต้องใส่แว่นอ่านหนังสือทุกครั้งเมื่อต้องการมองใกล้ หรือ ใช้เทคนิค monovision
2. ผู้ป่วยที่มีภาวะสายตาสั้น(myopia) ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะแตกต่างกับกลุ่มแรก คือ สามารถมองใกล้หรืออ่านหนังสือในระยะใกล้ได้ชัดโดยไม่ต้องใส่แว่น แต่จะใส่แว่นเพื่อให้มองเห็นไกลชัดเท่านั้น การพิจารณาแนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงมีความหลากหลาย เช่น ผู้ป่วยบางรายเลือกที่จะไม่ทำเลสิก หากหลังจากทำเลสิคแล้ว ทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นใกล้ ในขณะที่ผู้ป่วยบางราย ที่ใช้สายตาสำหรับมองไกลเป็นหลัก ก็เลือกที่จะทำเลสิก แล้วใส่แว่นตอนอ่านหนังสือแทน และยังมีผู้ป่วยบางรายที่เลือกรักษาโดยใช้ monovision แทน
3. ผู้ป่วยที่มีเฉพาะภาวะสายตายาวตามอายุ (presbyopia) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะเลือกเทคนิค monovision โดยการแก้ไขสายตาเพียง 1 ข้างเพื่อให้มองใกล้ชัด
ผลข้างเคียงของ monovision
ผลข้างเคียงของ monovision คือ การที่ตาทั้ง 2 ข้างมีค่าสายตาไม่เท่ากัน (anisometropia) ซึ่งอาจส่งผลให้ การมองเห็นภาพทั้งไกลและใกล้ไม่ชัดเจน เห็นแสงแตกกระจาย (glare) โดยเฉพาะเวลากลางคืน ความสามารถในการมองเห็นในตอนกลางคืนลดลงโดยเฉพาะขณะขับรถ ความสามารถในการมองเห็นความลึกของภาพลดลง หรือรู้สึกไม่ค่อยสบายตา แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้ จะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และเมื่อผู้ป่วยเริ่มที่จะปรับตัวให้เคยชินกับค่าสายตาแบบใหม่ ในผู้ป่วยที่เคยใส่ contact lenses แบบ monovision แล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวได้เร็วขึ้น
การทดสอบตาข้างเด่น (Dominant eye)
ตาข้างเด่น คือ ตาที่เรามักจะใช้ในการมองไกล การทดสอบตาข้างเด่น เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากของการทำ monovision วิธีการทดสอบมีหลายวิธี แต่วิธีที่พบบ่อย ได้แก่ Miles test คือ การให้ผู้ป่วยยืดแขนออกทั้ง 2 ข้าง และใช้มือทั้ง 2 ข้าง ประสานกันโดยเว้นให้เกิดเป็นรูเล็กๆ ที่สามารถมองผ่านได้ ในช่วงแรก ผู้ป่วยจะต้องลืมตาทั้ง 2 ข้างเพื่อมองวัตถุที่อยู่ไกลออกไปผ่านรูเล็กๆ นี้ จากนั้น จะทำการทดสอบตาข้างเด่นโดยให้ผู้ป่วยหลับตาทีละข้าง ตาข้างที่ยังสามารถมองเห็นวัตถุนั้นได้อยู่ จะเป็นตาข้างเด่น ประมาณ 75% ของประชากร จะมีตาขวาเป็นตาข้างเด่น ในขณะที่ 25% ที่เหลือจะมีตาซ้ายเป็นตาข้างเด่นแทน
การทดลองใส่ contact lens แบบ monovision
หลังจากที่ผู้ป่วยตัดสินใจทำเลสิกแบบ monovision ขั้นตอนต่อไป จักษุแพทย์จะให้ทดลองใส่คอนแทคเลนส์แบบ monovision โดยตาข้างเด่นจะเลือกค่าคอนแทคเลนส์แบบให้มองไกลชัด ในขณะที่ตาอีกข้างจะเลือกค่าคอนแทคเลนส์ให้ค่อนไปทางสายตาสั้นเล็กน้อย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจำลองให้ผู้ป่วยได้ใช้ค่าสายตาแบบ monovision ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้จริง ตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยชอบเล่นกอล์ฟ จักษุแพทย์ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยลองใส่คอนแทคเลนส์แบบ monovision ว่ากระทบต่อการเล่นกอล์ฟหรือไม่ หากผู้ป่วยที่รู้สึกว่า monovision ค่อนข้างมีผลข้างเคียงต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จักษุแพทย์ก็จะไม่แนะนำให้ทำเลสิคแบบ monovision
วิธีทำผ่าตัด