หน้าแรก > รอบรู้เรื่องตา > รอบรู้เรื่องตา

สิ่งที่ต้องรู้ ก่อนที่จะใส่คอนแทคเลนส์ อ่าน 140,126

วิธีการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง สามารถทำได้หลายวิธี 1 ในนั้นคือ การใส่คอนแทคเลนส์เพื่อให้มองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากสะดวก หาซื้อได้ง่ายมีขายทั่วไปตามท้องตลาด มีหลากหลายสีสันให้เลือกใส่เพื่อเพิ่มความสวยงาม แต่การใส่คอนแทคเลนส์ก็อาจส่งผลเสียได้อย่างรุนแรงไปจนถึงสูญเสียการมองเห็น หากผู้ใส่ปฏิบัติตัวหรือดูแลคอนแทคเลนส์ได้ไม่ถูกต้องตามที่จักษุแพทย์แนะนำ ดังนั้น เราจึงควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้ดีก่อนที่จะเริ่มใส่คอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์ คืออะไร

คอนแทคเลนส์ เป็นพลาสติกวงกลมใส มีลักษณะบาง ใส่เพื่อแก้ปัญหาภาวะสายตาผิดปกติเพื่อให้การมองเห็นดีขึ้น ภาวะสายตาผิดปกติจะเกิดขึ้นเมื่อองค์ประกอบของดวงตาไม่สามารถรวมแสงให้ตกที่จอรับภาพได้พอดี ทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจน คอนแทคเลนส์จะสามารถแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติได้ ได้แก่ สายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวแต่กำเนิด และสายตายาวตามอายุ

คอนแทคเลนส์ มีแบบไหนบ้าง

• คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง

คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งที่พบได้บ่อย คือ คอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งแข็ง (rigid gas-permeable: RGP lens) ที่ยอมให้ออกซิเจนผ่านเข้าสู่ผิวดวงตาได้ คอนแทคเลนส์ชนิดนี้จะใช้ในผู้ที่มีค่าสายตาเอียงมากและผู้ที่เป็นโรคกระจกตาโป่ง (keratoconus) คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งจะช่วยปรับความโค้งของกระจกตาให้เข้าสู่รูปร่างที่ปกติมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพชัดเจนขึ้นได้ 

• คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม

คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดที่ได้รับความนิยมมาก พบขายทั่วไปตามท้องตลาด มีลักษณะนิ่ม คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มสามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่
1) คอนแทคเลนส์รายวัน เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดที่ใส่เฉพาะระหว่างวันและต้องถอดทำความสะอาดในตอนเย็น ซึ่งจะมีทั้ง แบบรายวัน, รายสัปดาห์, ราย 2 สัปดาห์, และรายเดือน จักษุแพทย์มักจะแนะนำให้ใส่แบบรายวันเนื่องจากลดโอกาสในการติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ที่ไม่สะอาด  
2) คอนแทคเลนส์ชนิดที่ใส่ระยะยาว เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดที่ใส่ขณะนอนหลับได้ อาจใส่ติดต่อกันได้หลายวันโดยไม่ต้องถอด ซึ่งจะต้องถอดออกมาเพื่อทำความสะอาดอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง จักษุแพทย์ไม่ค่อยแนะนำให้ผู้ป่วยใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนี้เนื่องจากเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ 
3) คอนแทคเลนส์ชนิดแก้สายตาเอียง ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะสายตาเอียง แต่ประสิทธิภาพในการแก้ไขอาจจะต่ำกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง มีทั้งชนิดที่เป็นรายวันและชนิดที่ใส่ระยะยาว คอนแทคเลนส์ชนิดแก้สายตาเอียงเป็นคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มที่ราคาสูงกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดอื่นๆ
4) คอนแทคเลนส์สี คอนแทคเลนส์สีสามารถใส่เพื่อแก้ไขสายตาผิดปกติหรือใส่เพื่อความสวยงาม
5) คอสเมติกคอนแทคเลนส์ มักเป็นคอนแทคเลนส์ที่ไม่ได้ใส่เพื่อแก้ไขค่าสายตา แต่จะใส่เพื่อเปลี่ยนแปลงสีหรือลักษณะของดวงตาเท่านั้น เช่น คอนแทคเลนส์ตาแมว หรือคอนแทคเลน์ที่ใส่ให้ตาดูเหมือนแวมไพร์ ถึงแม้คอนแทคเลนส์ชนิดนี้จะไม่ใช่คอนแทคเลนส์ที่ใส่เพื่อการแก้ไขค่าสายตา แต่ก็ควรได้รับคำแนะนำจากจักษุแพทย์ก่อนใส่ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ

• คอนแทคเลนส์ชนิดอื่นๆ

1) คอนแทคเลนส์ชนิดแก้สายตายาวตามอายุ ในผู้ป่วยที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะใส่คอนแทคเลนส์เพื่อช่วยให้มองเห็นชัดขึ้นได้หลายวิธี ได้แก่ การใส่คอนแทคเลนส์ชนิด bifocal หรือ multifocal นอกจากนี้ยังสามารถใส่คอนแทคเลนส์แบบวิธี monovision คือ การใส่คอนแทคเลนส์เพื่อแก้ไขให้สายตามองเห็นไกลชัด 1 ข้าง และมองเห็นใกล้ชัดอีก 1 ข้าง
2) คอนแทคเลนส์ครอบแผลชนิดพิเศษ เป็นคอนแทคเลนส์ที่ใช้หลังทำผ่าตัดเพื่อให้ผิวกระจกตาสมานกันได้เร็วขึ้น

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเมื่อใส่คอนแทคเลนส์

1) การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่พอดีอาจทำให้เกิดรอยขีดข่วนที่ผิวกระจกตาได้
2) หากดวงตามีออกซิเจนมาเลี้ยงในปริมาณที่ไม่เพียงพอจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวเข้าไปในส่วนของกระจกตา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการมองเห็นในอนาคต
3) การใช้ยาหยอดตาอาจทำให้เกิดปัญหากับคอนแทคเลนส์ได้ เนื่องจากในยาหยอดตาจะผสมสารกันเสียอยู่ หากเราหยอดยาขณะที่ใส่คอนแทคเลนส์ จะทำให้สารกันเสียสะสมที่ผิวของคอนแทคเลนส์จนก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวดวงตาได้ ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหยอดตาชนิดต่างๆ  ขณะใส่คอนแทคเลนส์ อย่างไรก็ตาม การหยอดน้ำตาเทียมตามคำแนะนำของแพทย์จักษุแพทย์จะช่วยบรรเทาอาการตาแห้งขณะใส่คอนแทคเลนส์ได้ดีขึ้น ซึ่งจักษุแพทย์มักจะแนะนำน้ำตาเทียมชนิดที่ไม่ผสมสารกันเสีย
4) หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดง ปวดตา ตามัว น้ำตาไหล แพ้แสง ขี้ตามากผิดปกติ ให้รีบถอดคอนแทคเลนส์แล้วไปพบจักษุแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของอาการติดเชื้อได้

สิ่งที่ต้องทำเมื่อใส่คอนแทคเลนส์

1) ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป หากเป็นไปได้ ไม่ควรใส่ติดต่อกันมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอนหลับข้ามคืน
2) ถอดคอนแทคเลนส์ก่อนอาบน้ำ หรือก่อนทำกิจกรรมที่น้ำจะเข้าตาได้ทุกครั้งเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มากับน้ำจะมาสะสมที่ผิวคอนแทคเลนส์
3) ล้างมือให้สะอาดและเช็ดมือให้แห้งทุกครั้งก่อนสัมผัสกับคอนแทคเลนส์
4) ห้ามล้างคอนแทคเลนส์ด้วยน้ำประปาเด็ดขาด
5) ปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์และอ่านคู่มือการล้างคอนแทคเลนส์ที่มากับผลิตภัณฑ์น้ำยาคอนแทคเลนส์เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง
6) ไม่ว่าจะเป็นคอนแทคเลนส์ชนิดใดก็ตาม จะต้องใช้นิ้วมือที่สะอาดเช็ดวนรอบคอนแทคเลนส์ก่อนใส่ทุกครั้งเพื่อลดการปนเปื้อนของโปรตีนที่ผิวคอนแทคเลนส์
7) เปลี่ยนน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ในตลับทุกครั้ง ห้ามใช้ซ้ำ
8) ปิดขวดน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ทุกครั้งหลังใช้เสร็จ เพื่อคงความสะอาด ปราศจากเชื้อโรคที่มาสัมผัสบริเวณปากขวดได้
9) ล้างตลับใส่คอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์และทิ้งไว้ให้แห้งก่อนใช้ครั้งต่อไป ไม่ควรล้างตลับคอนแทคเลนส์ด้วยน้ำเปล่า
10) เปลี่ยนตลับใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำทุก 3 เดือน หรือเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อตลับมีรอยแตกร้าว