หน้าแรก > รอบรู้เรื่องตา > รอบรู้เรื่องตา

รู้ทันฝุ่นละออง PM 2.5 อ่าน 16,191

     PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองในบรรยากาศที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กเพียง 2.5 ไมโครมิเตอร์ หรือมีขนาดเท่ากับเพียง 3% ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมของคน และเนื่องจาก PM 2.5 เป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมาก จึงสามารถมองเห็นผ่านกล้องจุลทรรศน์แบบอิเล็กตรอนเท่านั้น 
ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแหล่งกำเนิดได้จากหลายแหล่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โรงผลิตไฟฟ้า ควันจากยานพาหนะ เครื่องบิน การเผาไหม้ ไฟไหม้ป่า ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่จากการระเบิดของภูเขาไฟ
อนุภาคบางชนิดสามารถแพร่กระจายสู่อากาศได้โดยตรง ในขณะที่อนุภาคบางชนิดจะเกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาระหว่างก๊าซและอนุภาคในอากาศ ตัวอย่างเช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นก๊าซที่เกิดจากโรงไฟฟ้า เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนและหยดน้ำในอากาศจะเกิดเป็น กรดซัลฟิวริก ซึ่งจะเรียกอนุภาคประเภทนี้ว่า อนุภาคทุติยภูมิ

PM 2.5 อันตรายอย่างไร?

     เนื่องจาก PM2.5 เป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กและบางเบา จึงทำให้ลอยตัวอยู่ในอากาศได้นานกว่าอนุภาคที่มีขนาดใหญ่ที่มีนัำหนักและจะตกลงสู่ที่ต่ำ จึงเพิ่มโอกาสให้ PM 2.5 สามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้มากขึ้นโดยการหายใจ อนุภาคขนาดเล็กนี้จะผ่านเข้าสู่จมูก ลำคอ ไปสู่ปอด ยิ่งไปกว่านั้นอนุภาคบางชนิดยังสามารถเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตของเราได้อีกด้วย 
     เป็นที่ทราบกันดีว่า อนุภาคขนาดเล็กสามารถเป็นตัวกระตุ้น หรือทำให้ผู้ที่เป็นโรคบางชนิดมีอาการแย่ลง เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดลมอักเสบ รวมทั้งโรคทางเดินหายใจอื่นๆ จากผลการวิจัยที่ได้เผยแพร่ในวารสาร American Medical Association ได้ระบุไว้ว่า การเผชิญกับ PM2.5 ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจะนำไปสู่การเกิดผลึกตะกอนในหลอดเลือดแดง ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวขึ้นซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดในสมองตามมาได้

การอ่านค่า PM2.5

     เนื่องจาก PM2.5 เป็นฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากร ทำให้กรมสุขภาพต่างๆ ทั่วโลกต่างก็วัดผลติดตามค่า PM 2.5 กันอย่างใกล้ชิด การแสดงผลจะมีหน่วยเป็น Air Quality Index (AQI) หรือดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ใช้ในการสื่อสารว่าอากาศมีมลภาวะมากน้อยเพียงใด หาก AQI มีค่าสูงขึ้น เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
     ในวันที่สภาพอากาศแจ่มใสปกติ PM2.5 จะมีค่าประมาณ 5 ไมโครกรัม/ ตร.ม. หรือต่ำกว่า การเผชิญกับ PM 2.5 ที่มีค่าสูงกว่า 35.4 ไมโครกรัม/ตร.ม. เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะเริ่มส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพได้ ที่ต้องกล่าวถึงเวลา 24 ชั่วโมง เป็นเพราะว่าการประเมินค่าดัชนีคุณภาพอากาศว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่นั้น ไม่เพียงแต่ประเมินจากค่าของ PM 2.5 เท่านั้น แต่ยังต้องประเมินถึงระยะเวลาที่เราเผชิญกับ PM 2.5 ด้วย ซึ่งยิ่งเราเผชิญกับ PM2.5 นานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น 

ตารางแสดงค่า PM2.5(ไมโครกรัม/ ตร.ม.) เมื่อต้องเผชิญกับ PM 2.5 เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง

ที่มา : U.S. Environmental Protection Agency.

วิธีป้องกันตนเองต่อ PM2.5 

• อยู่ภายในบ้าน/ อาคาร ปิดหน้าต่างเพื่อลดปริมาณของ PM2.5 ที่จะเข้าสู่ภายในอาคารได้

• ขณะที่ปิดหน้าต่าง ห้ามจุดเทียนหรือใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดควัน

 
• ใช้เครื่องกรองอากาศที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กได้
 
• ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทานวิตามิน หรืออาหารเสริมที่ช่วยบำรุงร่างกาย
 
• หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากาก แว่นตา

วิธีดูแลดวงตา

     การเผชิญกับวิกฤตของฝุ่นละอองหรือมลภาวะ จะทำให้เกิดอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา และตาแดง โดยทั่วไปฝุ่นละอองจะไม่ทำให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรงต่อดวงตา แต่จะทำให้คนที่มีโรคตาอยู่แล้ว เช่น โรคต้อลม ต้อเนื้อ มีอาการเคืองตา หรือตาแดงมากขึ้นได้ ถึงแม้เราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงกับวิกฤตของฝุ่นละอองในปัจจุบันได้ เราจึงควรทราบวิธีการดูแลดวงตาของตนเองให้ดี ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้
 
• หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นหนาแน่นเท่าที่จะสามารถทำได้
 
• เมื่อเริ่มมีอาการเคืองตา หรือแสบตา ห้ามไม่ให้ขยี้ตา เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ให้ใช้การหยอดน้ำตาเทียม หรือการล้างตาด้วยน้ำสะอาดแทน
 
• หากต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นควันเยอะ ควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ ให้ใส่แว่นตาแทน เพราะการใส่คอนแทคเลนส์จะเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ดวงตา
 
• สำหรับคนที่เป็นโรคต้อเนื้อ ต้อลม ควรใส่แว่นกันแดด หรือกันลม เพื่อป้องให้ไม่ให้ระคายเคืองตา หรือตาแดงมากขึ้น
 
• ถ้าหากมีอาการผิดปกติชัดเจน เช่น มีขี้ตา ตาแดงมากผิดปกติ หรือตามัวลง ควรรีบพบจักษุแพทย์
 
ขอบคุณรูปภาพจาก Thairath Online