รักษาโรคกระจกตาโป่ง (Keratoconus) ด้วยการผ่าตัดใส่วงแหวนเฟอร์ราร่า อ่าน 20,906
โรคกระจกตาโป่ง หรือ Keratoconus เป็นภาวะที่กระจกตามีความผิดปกติ คือ จากที่กระจกตาจะมีรูปร่างโค้งลักษณะคล้ายโดม แต่กลับโป่งยื่นออกมาข้างหน้า หรือมีลักษณะเป็นรูปกรวย เกิดจากกระจกตาบริเวณตรงกลางมีลักษณะบางลง ทำให้ความดันภายในลูกตา ดันกระจกตาส่วนที่บางลงให้โป่งนูนออกมาด้านหน้าส่วนสาเหตุของโรคกระจกตาโป่งยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น พันธุกรรม หรือการอักเสบของดวงตา
ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระจกตาโป่งจะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยที่มีภาวะสายตาเอียง คือ เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน เมื่อใส่คอนแทคเลนส์หรือแว่นตา จะช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขึ้น จะเป็นภาพซ้อนมากขึ้น ใส่คอนแทคเลนส์หรือแว่นตาก็ยังไม่ช่วยให้มองเห็นดีขึ้นได้ จึงนำไปสู่การรักษาในขั้นตอนต่อไป คือ การผ่าตัดใส่วงแหวนเฟอร์ราร่า (Ferrara Ring Implantation)
วงแหวนเฟอร์ราร่า คืออะไร
วงแหวนเฟอร์ราร่า (Ferrara Ring) คือ วงแหวนชนิดหนึ่งที่ใช้ใส่เสริมในชั้นกระจกตา (Intrastromal corneal ring segment) ผลิตมาจากสารพอลิเมทิล เมทาคริเลท (Polymethy methacrylate : PMMA) ซึ่งเป็นวัสดุกลุ่มเดียวกับที่ใช้ในการผลิตเลนส์ตาเทียมสำหรับใช้ในการผ่าตัดต้อกระจก วงแหวนเฟอร์ราร่ามีสีเหลืองใส ลักษณะเป็นวงแหวนที่ไม่เต็มวง มีความหนาตั้งแต่ 0.15, 0.20 และ 0.25 มิลลิเมตร และมีความยาวตามส่วนโค้งของวงกลม (arc length) เป็นองศาตั้งแต่ 90, 140, 160, 210 และ 320 องศา การเลือกขนาดและจำนวนวงแหวนจะขึ้นกับสภาพกระจกตาของผู้ป่วยแต่ละราย ตามดุลยพินิจของจักษุแพทย์
หลักการทำงานของวงแหวนเฟอร์ราร่า
การผ่าตัดใส่วงแหวนเฟอร์ราร่าริเริ่มโดย Dr. Paula Ferrara ในปีค.ศ. 1996 โดยใช้หลักการที่ว่าการเสริมปริมาตรใดๆ ในเนื้อกระจกตารอบนอกจะทำให้ความโค้งกระจกตาตรงกลางลดลงหรือแบนลงจึงมีผลทำให้กระจกตาที่มีความโค้งผิดปกติอันเกิดจากกลุ่มโรคตาบางชนิดมีความโค้งลดลงและโค้งอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น ส่งผลให้ค่าสายตาสั้นและเอียงลดลงตามมา ผู้ป่วยจะสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ดีขึ้น
จุดเด่นของการใส่วงแหวนเฟอร์ราร่า
• โครงสร้างของกระจกตาแข็งแรงขึ้น ลดสายตาสั้นและเอียง ชะลอหรือหยุดการดำเนินของโรค
• เป็นการผ่าตัดเล็กที่ไม่ผ่านตรงกลางของกระจกตา (visual axis) ทำให้กระจกตาตรงกลางคงความใสเหมือนเดิม
• เป็นการผ่าตัดที่เสริมวงแหวนเข้าไปในชั้นกระจกตา ไม่ได้เข้าไปในลูกตา และไม่ได้ผ่าตัดเอาเนื้อกระจกตาออก จึงเป็นการผ่าตัดเล็กที่มีความปลอดภัยสูง
• สามารถผ่าตัดถอดเอาวงแหวนออกและแก้ไขให้กลับไปเหมือนก่อนผ่าตัดได้ (reversible procedure) แต่โดยปกติจะใส่ไว้ได้ตลอดได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องเอาออก
• สามารถผ่าตัดเปลี่ยนขนาดวงแหวนได้ (adjustable procedure)
• การทำผ่าตัดไม่ต้องฉีดยาชา ไม่มีการเย็บแผล และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
• แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 1 มิลลิเมตร ทำให้แผลหายเร็วมาก พักฟื้นไม่นาน
• หลังผ่าตัด จักษุแพทย์จะใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มครอบแผลเพื่อให้ผู้ป่วยสบายตาและจะเอาออกภายใน 1-3 วัน
ผู้ที่เหมาะสมกับการใส่วงแหวนเฟอร์ราร่า
• ผู้ที่มีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการรักษา
• ผู้ป่วยกลุ่มโรคดังต่อไปนี้
o โรคกระจกตาโป่งนูน (Keratoconus)
o โรคกระจกตาย้วย (Pellucid Marginal Degeneration)
o โรคกระจกตาโป่งนูนหลังทำเลสิค (Post-LASIK Ectasia)
o ผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงมาก (High Regular Astigmatism)
o ผู้ที่มีสายตาเอียงหลังการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา (Post Keratoplasty Astigmatism)
• มีความโค้งและความบางของกระจกตาอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถผ่าตัดได้
• ไม่มีภาวะกระจกตาเป็นแผลเป็น หรือเคยกระจกตาทะลุจากโรคกระจกตาโป่งขั้นรุนแรง
• ไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี โรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rhematoid arthritis) โรคภูมิแพ้ SLE (Systemic Lupus Erythemotosus)
• ไม่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
ขอบคุณภาพจากพญ.ภัทรมน บรรณประดิษฐ์
จักษุแพทย์ประจำรพ.จักษุ รัตนิน และศูนย์เลสิคและรักษาสายตารัตนิน-กิมเบล